top of page
รูปภาพนักเขียนฐิติกร พูลภัทรชีวิน

เราทุกคนคืออัจฉริยะ ว่าแต่ด้านไหนล่ะ ?

อัปเดตเมื่อ 20 ก.พ.



จากการศึกษาของ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกในชื่อ "ทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligences)" พบว่า มนุษย์เราทุกคนล้วนแล้วแต่มีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัว อาจมีบางด้านมากบางด้านน้อยแตกต่างกันไป ที่สำคัญคือ อัจฉริยภาพทุกด้านนั้นเราสามารถพัฒนาได้



 

อัจฉริยภาพในตัวมนุษย์นั้นมีอย่างน้อย 8 ด้าน ได้แก่


อัจฉริยะภาพด้านตรรกะและคณิตศาสตร์


ลักษณะเด่น :

มักจะมีความคิดเป็นเหตุเป็นผล มีความสามารถด้านการคำนวณ การระบุปริมาณหรือจำนวนของสิ่งต่างๆ ประมาณการณ์สัดส่วน (ratio) ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ กำหนดสมมติฐาน และการแก้ไขสมการทางคณิตศาสตร์ มักมีนิสัยช่างสงสัย ชอบตั้งคำถาม แล้วก็จะพยายามไปสืบค้นข้อมูลเพื่อหาคำตอบออกมา ชอบนิยายหรือภาพยนตร์แนวสืบสวนสอบสวน ชอบแก้ปริศนาหรือไขรหัสลับต่างๆ บางครั้งก็เป็นคนคิดปริศนาหรือรหัสลับขึ้นมาเอง


อาชีพที่สอดคล้อง :

  1. งานที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขและการคำนวณ เช่น นักคณิตศาสตร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล นักสถิติ นักบัญชี นักเศรษฐศาสตร์

  2. งานที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรมเมอร์ นักออกแบบฐานข้อมูล นักออกแบบเครือข่ายสารสนเทศ

  3. งานที่ต้องใช้ตรรกะ การสันนิษฐาน และการวิเคราะห์ เช่น ทนายความ นักวิจัย วิศวกร เภสัชกร แพทย์

แนวทางในการพัฒนาอัจฉริยภาพด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ :

  1. เล่นเกมบวกลบคูณหารในใจเป็นประจำ เช่น เวลาไปทานอาหารกับเพื่อนๆ แล้วสั่งเมนูมาหลายๆ อย่าง ก็ให้แอบดูราคาอาหารทั้งหมด แล้วก็ลองคำนวณในใจดูว่าราคาอาหารน่าจะออกรวมแล้วเท่าไหร่ เมื่อรวมกับ VAT และ Service Charge แล้วจะออกมาเป็นเท่าไหร่ แล้วเพื่อนๆ แต่ละคนต้องจ่ายคนละเท่าไหร่ คิดได้แล้วก็มาลองลุ้นดูว่า ที่เราคำนวณไว้ตรงมากแค่ไหน

  2. ติดตามอัพเดทข่าวสารเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ แล้วพยายามเรียนรู้วิธีคิดของคนที่ค้นพบสิ่งใหม่หรือสามารถประดิษฐ์นวัตกรรมออกมาได้ การฟังเรื่องราวประสบการณ์ในการทำธุรกิจทั้งแบบที่สำเร็จและล้มเหลว แล้วพยายามเชื่อมโยงเหตุผลที่ทำให้เกิดความสำเร็จและล้มเหลวแต่ละครั้งก็ช่วยได้เช่นเดียวกัน

  3. เล่นเกม อ่านนิยาย หรือดูการ์ตูนแนวสืบสวนสอบสวน แล้วพยายามจับพิรุธของตัวละคร จับสังเกตสัญญาณบางอย่างที่ผู้แต่งทิ้งไว้ให้ แล้วคาดเดาคำตอบให้ได้ถูกต้องก่อนที่จะดูเฉลย ก็น่าท้าทายไม่เบาเลย การฝึกแบบนี้จะช่วยเพิ่มความช่างสังเกตให้กับเรา และช่วยฝึกให้เราคิดวิเคราะห์ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลด้วย (การอ่านหรือดูหนังประเภทอื่นก็ได้เช่นกัน ถ้าเราไม่ได้ดูเอาแค่สนุกหรือจิกหมอนอย่างเดียว ระหว่างที่เราดูไป ให้เราพยายามคาดเดาพล็อตเรื่องตอนจบที่เป็นไปได้ และเหตุผลที่ตอนจบจะออกมาเป็นแบบนั้นด้วย แต่ก็นะ การทำแบบนั้นคงไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่หรอกจริงมั้ย)

  4. เล่นเกมที่ต้องใช้การวางแผนและการคิดวิเคราะห์ เช่น หมากฮอส หมากรุก หมากล้อม ซูโดคุ เกมแนววางแผนการรบ เกมจำพวกนี้จะช่วยฝึกทักษะการคิดอย่างเป็นระบบโดยตรง การเล่นไพ่บางอย่างก็ช่วยนะ แต่อย่าเล่นเป็นการพนันก็แล้วกัน

  5. ฝึกทำบัญชีรายรับรายจ่ายส่วนตัวและครอบครัว ถือเป็นการฝึกทำงานกับข้อมูลเบื้องต้น บันทึกแล้วในแต่ละสัปดาห์แต่ละเดือนก็นำมาสรุป แล้วก็ทำการวิเคราะห์ดูว่าการใช้จ่ายเงินของเราเป็นอย่างไรบ้าง เราใช้เงินไปกับเรื่องอะไรมากที่สุด แล้วจริงๆ เราจำเป็นต้องใช้เงินกับเรื่องนั้นๆ มากขนาดนั้นมั้ย พอเริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่ายจนชินแล้ว คราวนี้การเริ่มต้นวางแผนการเงินก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะมีข้อมูลจริงไว้ให้เราใช้ในการวางแผนแล้วนั่นเอง

  6. เรียนรู้การใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น แผนผังก้างปลา Why-Why Analysis เป็นต้น เวลาที่ทำงานแล้วเจอปัญหาก็ลองเอาเครื่องมือเหล่านี้มาช่วยวิเคราะห์หารากที่แท้จริงของปัญหา ก่อนจะลองหาทางเลือกที่น่าจะใช้แก้ปัญหาได้ แล้วก็ลองแก้ปัญหาด้วยวิธีการเหล่านั้นดู เพื่อจะได้รู้ว่าสาเหตุของปัญหาที่เราวิเคราะห์ไว้ ใช่รากของปัญหาจริงๆ หรือไม่


 

อัจฉริยภาพด้านมิติสัมพันธ์และการจินตภาพ


ลักษณะเด่น :

มักจะมีความสามารถในการมองและคิดเป็นภาพสามมิติ คาดการณ์ขนาดของสิ่งของหรือระยะห่างระหว่างสิ่งของต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ชอบจดจำสิ่งต่างๆ เป็นภาพ เวลาที่จะทำอะไรมักจะเห็นภาพสุดท้ายของสิ่งนั้นในหัวก่อนเสมอ ทำให้สามารถนำเสนองานโดยใช้รูปภาพ แผนภูมิ กราฟได้ในแบบที่คนอื่นเข้าใจได้ง่าย และสามารถจัดวาง ออกแบบ โยกย้ายสิ่งของในสภาพแวดล้อมรอบตัวให้ออกมาได้อย่างลงตัว


อาชีพที่สอดคล้อง :

  1. งานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ โดยเฉพาะงานศิลปะที่เน้นการมอง เช่น จิตรกร นักออกแบบกราฟิก นักออกแบบแฟชั่น ช่างภาพ นักแกะสลัก

  2. งานที่เกี่ยวกับการออกแบบสถานที่ เช่น สถาปนิก วิศวกร มัณฑนากร นักสำรวจรังวัด นักวางผังเมือง

  3. งานที่เกี่ยวข้องกับการทิศทางและแผนที่ เช่น นักบิน คนขับแท๊กซี่ คนขับรถบรรทุก


แนวทางในการพัฒนาอัจฉริยภาพด้านมิติสัมพันธ์และการจินตภาพ :

  1. ลองเปลี่ยนจากการจดโน้ตต่างๆ ด้วยการพิมพ์ลงบนสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ต กลับมาใช้สมุดโน้ตที่สามารถขีดเขียนลงไปได้อย่างอิสระ ควบคู่กับการใช้ปากกาหลากหลายสีสัน เพื่อแทนสัญลักษณ์หรือหมวดหมู่ของเรื่องราวต่างๆ อาจทำเป็น MindMap หรือจะจดในรูปแบบอื่นๆ ก็ได้ การทำแบบนี้จะช่วยพัฒนาทักษะการสังเกตด้วยสายตาและช่วยให้สมองสามารถจดจำเป็นภาพได้ดีขึ้น (การจดลงบนแท็ปเล็ตก็ยังทำได้ แต่แทนที่จะพิมพ์ลงไปเฉยๆ ให้ลองเปลี่ยนไปใช้แอปที่เป็นสมุดโน้ตและมีปากกาหลากสีสันให้ใช้ก็พอจะทดแทนกันได้)

  2. เพิ่มขีดความสามารถในการจินตนาการด้วยการค้นหาดูภาพต่างๆ บ่อยๆ การทำแบบนี้จะช่วยให้เรามีคลังภาพอยู่ในสมอง เวลาที่เราต้องการสื่อสารอะไรออกมาเป็นภาพก็จะง่ายยิ่งขึ้น คนที่สามารถทำสื่อนำเสนอได้สวยงามและเข้าใจง่าย ส่วนใหญ่ต่างก็ผ่านการดูแล้วเรียนรู้จากผลงานนำเสนอดีๆ มาก่อนทั้งนั้น อย่างไรก็ดี เป้าหมายของการดูตัวอย่างเยอะๆ ไม่ได้มีเพื่อให้เราสามารถก๊อปปี้งานคนอื่นได้เก่งขึ้น แต่เพื่อให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลายในการนำเสนอสิ่งที่อยู่ในความคิดของเราออกมาให้คนอื่นเข้าใจได้มากขึ้นต่างหาก

  3. ฝึกอธิบายสิ่งต่างๆ ด้วยการวาดภาพออกมา เช่น เวลาต้องการบอกทางคนอื่น ก็วาดเป็นแผนที่ออกมาเลย เวลาที่ต้องการอธิบายกระบวนการทำงานให้คนอื่นฟัง ก็วาดเป็นแผนภูมิ เป็น Flowchart ออกมา เวลาที่ต้องการอธิบายถึงสิ่งของบางอย่าง ก็วาดเป็นภาพสเก็ตช์ออกมาแทน ทั้งหมดนี้ยังไม่ต้องกังวลเรื่องความสวยงามเลย เน้นแค่ให้สิ่งที่เราวาดออกมานั้นช่วยทำให้คนอื่นเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังอธิบายมากขึ้นก็พอ

  4. ฝึกจัดสิ่งของที่มีพื้นที่จำกัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เช่น จัดกระเป๋าเดินทาง จัดห้องนอน จัดโต๊ะทำงาน ไม่ใช่แค่ให้สามารถยัดทุกสิ่งลงไปได้และเรา (คนเดียว) สามารถค้นหาพบแล้วหยิบฉวยมาใช้งานได้เท่านั้น แต่ให้เน้นไปที่การทำให้ทุกอย่างอยู่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย แบ่งเป็นหมวดหมู่ชัดเจน โดยเริ่มจากการจินตนาการภาพสุดท้ายที่เราอยากให้เกิดขึ้นก่อน แล้วพยายามทำให้ภาพนั้นเกิดขึ้นมาจริงๆ การทำแบบนี้นอกจากจะได้ฝึกฝนการคิดและการมองในแบบสามมิติแล้ว ยังช่วยให้ชีวิตเรามีความสุขมากขึ้นจากการที่มีห้องนอนสวยๆ ดูดี มีโต๊ะทำงานที่สะอาดเรียบร้อยเป็นที่น่าชื่มชมของทุกคนที่ผ่านมาเห็นอีกด้วย

  5. การเล่นของเล่นจำพวกตัวต่อเลโก้ กันพลา บ้านกระดาษ หรือจิ๊กซอว์ ก็ช่วยได้มากเลยเช่นกัน หรือจะเล่นโดยการเอาของที่ไม่ต้องการใช้แล้วมาแยกชิ้นส่วนออกแล้วพยายามหาทางประกอบกลับเข้าไปใหม่ แบบนี้ก็สนุกไปอีกแบบแถมไม่ต้องใช้เงินมากอีกด้วย


 

อัจฉริยภาพด้านภาษา


ลักษณะเด่น :

มักจะมีความสามารถในการคิดเป็นคำ (word) ได้ดี สามารถใช้ภาษาในการถ่ายทอดความหมายของสิ่งที่สลับซับซ้อนได้อย่างชัดเจน ทำให้เวลาพูด ใครๆ มักอยากฟัง เวลาเจรจาต่อรองกับใครก็ไม่ค่อยเพลี่ยงพล้ำ มักจะชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบฟัง มักจะจดจำคำศัพท์ได้จำนวนมาก และชอบที่จะเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงมักจะไม่กลัวเวลาที่ต้องสื่อสารด้วยภาษาแปลกใหม่ที่ตัวเองไม่ได้ถนัด


อาชีพที่สอดคล้อง :

  1. งานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารด้วยการเขียน เช่น นักเขียน บรรณาธิการ นักข่าว กวี บล็อกเกอร์

  2. งานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารด้วยการพูด เช่น นักพูด นักการเมือง นักเทศน์หรือนักบวชในศาสนาต่างๆ ผู้ประกาศข่าว แร็ปเปอร์

  3. งานที่เกี่ยวข้องกับภาษาศาสตร์ เช่น ล่ามแปลภาษา ครูสอนภาษา นักประวัติศาสตร์


แนวทางในการพัฒนาอัจฉริยภาพด้านภาษา :

  1. อ่านหนังสือบ่อยๆ ลองอ่านแนวที่ตัวเองไม่ถนัดบ้าง แล้วลองเรียนรู้คำศัพท์ในแต่ละวิชาชีพดูเพิ่มเติม อาจจะไม่จำเป็นต้องพยายามแปลและจดจำให้ได้ครบทุกคำ ลองฝึกเดาคำศัพท์หรือจับประเด็นความหมายของภาพรวมของทั้งประโยคแทนบ้างก็ได้

  2. เวลาดูหนังหรือดูซีรีส์ต่างประเทศ ลองฟังเสียงต้นฉบับแล้วพยายามออกเสียงตามให้เหมือนที่สุดดู หรือจะลองเลือกเป็นการฟังเพลงภาษาอื่นๆ ที่เราไม่ค่อยคุ้นเคยก็ได้ ยังไม่สำคัญว่าเราเข้าใจความหมายของคำที่เราเปล่งเสียงออกมานั้นหรือไม่ การฝึกทำแบบนี้บ่อยๆ จะช่วยเพิ่มความละเอียดในการฟังของหู และช่วยเสริมความแข็งแรงของอวัยวะที่ใช้ออกเสียงของเราด้วย

  3. ฝึกเขียนบทความ โดยอาจเริ่มจากการพยายามเขียนให้สาระสำคัญที่ต้องการสื่อสารครบถ้วน พอทำได้แล้วก็ลองดูเรื่องการสะกดผิดถูก พยายามให้คำผิดน้อยที่สุด แล้วหลังจากนั้นค่อยมาพยายามพัฒนาให้ภาษาที่เราใช้สละสลวยมากขึ้น เรียบเรียงเนื้อหาให้น่าอ่านชวนติดตามมากขึ้น

  4. ฝึกทำหน้าที่เป็น Moderator ในระหว่างการพูดคุยหรือการประชุม อาจจะไม่จำเป็นต้องรับหน้าที่แบบเป็นทางการก็ได้ แต่ให้ลองฝึกฟังสิ่งที่คนอื่นพูดแล้วจับประเด็นสำคัญออกมา เมื่อมีจังหวะก็สรุปสิ่งที่เขาพูดเพื่อทบทวนความเข้าใจ และพยายามเชื่อมโยงสิ่งที่แต่ละคนพูดให้เห็นความสัมพันธ์ในภาพรวมทั้งหมด การทำแบบนี้บ่อยๆ นอกจากจะช่วยฝึกทักษะการฟัง ซึ่งจะไปเพิ่มอัจฉริยภาพด้านภาษาให้กับเรา ยังจะช่วยเพิ่มทักษะการจับประเด็นและการเชื่อมโยง ซึ่งจะไปเพิ่มอัจฉริยภาพด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ให้กับเราอีกด้วย

  5. ฝึกสรุปประเด็นสำคัญของการประชุมหรือการเรียนรู้ในแต่ละครั้ง ด้วยการใช้คำคล้องจอง หรืออาจใช้ตัวย่อที่สามารถเชื่อมประเด็นสำคัญทั้งหมดได้ เช่น สุขภาพจะดีต้องมีการดูแล 5อ. (อากาศ อาหาร อารมณ์ ออกกำลัง และอุจจาระ) ถ้าอยากให้การทำงานเป็นทีม มัน Work จริงๆ ทุกคนในทีมต้องทำงานเพื่อ T.E.A.M (Together - Everybody - Acheive - More) การฝึกทำแบบนี้นอกจากจะช่วยให้ตัวเราเองจดจำสาระสำคัญได้มากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เราได้ดึงเอาคลังศัพท์ในสมองออกมาใช้บ่อยๆ ด้วย


 

อัจฉริยภาพด้านดนตรีและจังหวะ


ลักษณะเด่น :

มักจะมีความสามารถในการฟังเสียงเพลงแล้วสามารถแยกแยะโน๊ต โทนเสียงสูงต่ำ จังหวะและความเร็วของเพลงได้ ทำให้สามารถสร้างสรรค์บทเพลงใหม่ๆ หรือเลียนแบบเสียงเพลงที่เคยได้ยินมาได้อย่างรวดเร็ว มักจะสามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่มากับเสียงเพลงนั้นได้ด้วย รักเสียงดนตรี ชอบฟังเพลงแทบทุกเวลา


อาชีพที่สอดคล้อง :

  1. งานที่เกี่ยวข้องกับเพลงโดยตรง เช่น นักร้อง นักดนตรี ผู้กำกับดนตรี วาทยากร นักแต่งเพลง

  2. งานที่นำความรู้ด้านเสียงและดนตรีมาใช้ เช่น ครูสอนดนตรี นักวิจารณ์เพลง นักบำบัดด้วยเสียงดนตรี วิศวกรเสียง นักแก้ไขการพูด

  3. งานสนับสนุนด้านเสียงและดนตรี เช่น ผู้จัดคอนเสิร์ต ตัวแทนจำหน่ายเพลง ค่ายเพลง บริการตั้งเสียงเปียโน


แนวทางในการพัฒนาอัจฉริยภาพด้านดนตรีและจังหวะ :

  1. ฝึกความละเอียดในการฟัง ด้วยการพยายามแยกแยะเสียงที่อยู่รอบตัวของเราว่ามีเสียงอะไรบ้าง ลองฝึกจากในห้องเงียบๆ เช่น เสียงแอร์ทำงาน เสียงน้ำแอร์หยด เสียงนกร้องอยู่ข้างหน้าต่าง เสียงแว๊นมอเตอร์ไซค์ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วค่อยๆ ฝึกในสภาพแวดล้อมที่เสียงดังขึ้นไปเรื่อยๆ

  2. ฝึกความละเอียดของหู ด้วยการพยายามแยกแยะเสียงเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ในเพลงที่เราชื่นชอบ ลองสังเกตดูว่ามีเครื่องดนตรีกี่ชิ้น แล้วในแต่ละท่อน เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นกำลังส่งเสียงอะไรออกมาอยู่ เริ่มจากวงเล็กๆ ทั่วไปที่อาจมีเครื่องดนตรีแค่ 3-5 ชิ้น แล้วค่อยๆ ขยับไปจนถึงวงออร์เคสตรา

  3. ฝึกสังเกตอารมณ์เพลง เวลาฟังเพลงที่เราชอบให้ลองสังเกตดูว่าเราสัมผัสอารมณ์แบบไหนได้จากเพลง นักร้องนักดนตรีหรือผู้ประพันธ์เพลงกำลังพยายามถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอะไรออกมาให้กับเรา ถ้าอยากรู้ว่าเราคาดเดาได้แม่นมั้ยก็ให้ลองไปหาบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวกับเพลงนั้นมา เพลงดังหลายๆ เพลงมักมีเรื่องเล่าที่มาที่ไปของเพลงอยู่ในนั้น หรือจะฝึกโดยการฟังจากรายการประกวดร้องเพลงหลายๆ รายการที่มี Commentator ดีๆ แล้วดูว่าความเห็นของเราตรงกับของ Commentator หรือไม่

  4. ฝึกร้องเพลงในห้องน้ำ หรือจะไปหัดร้องในคาราโอเกะก็ยังได้ อย่าลืมอัดเสียงตัวเองไว้ฟังแล้ววิจารณ์ตัวเองแบบตรงไปตรงมา จะได้พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นได้ แต่ถ้าอยากเอาแบบจริงจังให้พอจะไปร้องเวทีไหนแล้วไม่อายใคร ลองไปหาคอร์สเรียนสอนร้องเพลงแบบเบสิคก็น่าจะดีนะ การไปเรียนคอร์สเบสิค นอกจากจะได้เรียนรู้ทฤษฎีดนตรีเบื้องต้นแล้ว ส่วนใหญ่ครูก็จะช่วยสอนวิธีควบคุมลมหายใจและการเปล่งเสียงให้ด้วย อันนี้มีประโยชน์กับคนที่ต้องการฝึกฝนทักษะการพูดในที่สาธารณะด้วยนะ

  5. ฝึกดีดนิ้ว เคาะโต๊ะ ปรบมือ หรือขยับตัวให้เข้ากับจังหวะเพลง เริ่มจากเพลงช้าแล้วค่อยๆ เพิ่มระดับความเร็วของเพลงขึ้น ลองฝึกฝนเล่นเครื่องดนตรีสักชนิดดู แล้วพยายามเล่นตามต้นฉบับ หรือจะขยับไปฝีกเต้น Cover เพลงที่เราชอบก็ได้เช่นเดียวกัน การฝึกแบบนี้จะช่วยให้เราแม่นยำเรื่องจังหวะมากขึ้นโดยอัตโนมัติ


 


อัจฉริยภาพด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว


ลักษณะเด่น :

มีร่างกายที่มักจะตอบสนองต่อการสั่งการของสมองได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ จึงมีการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่างๆ ได้ดี ชอบเล่นกีฬา ชอบเต้น ชอบออกกำลังกาย จึงมักจะมีร่างกายที่แข็งแรงและรักษาสมดุลได้ดี ควบคุมการใช้กำลังและการใช้มือหยิบจับหรือทำงานต่างๆ ได้ดี จึงสามารถบังคับเครื่องยนต์กลไก ทำงานหัตถกรรม การก่อสร้าง และซ่อมแซมสิ่งของได้ดีด้วย


อาชีพที่สอดคล้อง :

  1. งานที่ต้องใช้ขีดความสามารถของร่างกายสูง เช่น นักกีฬา นักเต้น นักแสดง นักกายกรรม นักมายากล นักผจญเพลิง หน่วยกู้ภัย

  2. งานที่ใช้ความรู้เกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถของร่างกาย เช่น ครูพละ นักกายภาพบำบัด

  3. งานที่ใช้ประโยชน์จากความแม่นยำของร่างกาย เช่น ผู้ควบคุมเครื่องจักร นักแกะสลัก ช่างไม้


แนวทางในการพัฒนาอัจฉริยภาพด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว :

  1. แน่นอนว่า คงหนีไม่พ้นเรื่องของการออกกำลังกาย แต่ไม่ควรยึดติดกับการออกกำลังกายแบบใดแบบหนึ่งที่ตัวเองชอบเท่านั้น ให้เราพยายามออกแบบการออกกำลังกายให้ได้ทั้งเรื่องของการเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพิ่มความละเอียดในการทำงานของอวัยวะต่างๆ เพิ่มความสมดุลของร่างกายทั้งสองด้าน และเพิ่มความยืดหยุ่นส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วย

  2. การควบคุมวิถีชีวิตประจำวันก็สำคัญ เริ่มตั้งแต่การฝึกหายใจให้ถูกต้อง เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ ปรับเปลี่ยนอาหารการกินให้มีสารอาหารที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ นอกจากนี้ยังควรฝึกจัดท่ายืนท่านั่งให้กระดูกสันหลังตรงด้วย เพราะนอกจากมันจะทำให้เรามีบุคลิกภาพที่ดูดีสง่างามเป็นที่น่าประทับใจแล้ว การที่เราจัดท่ายืนท่านั่งของตัวเองให้มีกระดูกสันหลังตรง ยังช่วยเพิ่มพื้นที่ความจุปอดในการรับออกซิเจนเข้าไปได้อีกด้วย

  3. ลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำดูบ้าง เช่น ฝึกเต้น Cover เพลง ฝึกยิงธนู พายเรือ ทำงานฝีมือเย็บปักถักร้อย หรือแม้กระทั่งการซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน อย่าพึ่งกังวลว่าเราถนัดหรือไม่ถนัด จะทำได้ดีหรือไม่ดี เพราะสิ่งสำคัญคือ การที่ร่างกายของเราทำอะไรบางอย่างไม่ได้นั้น อาจเป็นเพียงเพราะสมองไม่เคยสั่งการให้ร่างกายของเราทำงานแบบนั้นมาก่อน การได้ทดลองทำจึงเป็นการเปิดโอกาสให้สมองกับร่างกายได้สื่อสารสัมพันธ์กันในรูปแบบใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น และยิ่งเราฝึกฝนทำซ้ำบ่อยๆ สมองก็จะค่อยๆ เรียนรู้วิธีการที่จะสั่งการอวัยวะต่างๆ ให้ทำสิ่งเหล่านั้นได้เอง


 

อัจฉริยภาพด้านการเข้าใจตนเอง


ลักษณะเด่น :

มักจะมีความสามารถในการเข้าใจในปัจเจกบุคคลอย่างลึกซึ้งโดยเฉพาะตัวเอง รู้ทันความคิด อารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง มีความภาคภูมิใจในตัวเอง ควบคุมตัวเองได้ สามารถวางแผนชีวิตให้กับตัวเองและขับเคลื่อนตัวเองไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ มักได้รับพลังงานจากการได้อยู่นิ่งๆ กับตัวเอง ได้มองดูความคิดตัวเอง มักจะสามารถอยู่ตามลำพังได้อย่างมีความสุข


อาชีพที่สอดคล้อง :

  1. งานที่เน้นการศึกษาลงลึกไปในความเป็นมนุษย์ เช่น นักจิตวิทยา นักปรัชญา นักศาสนศาสตร์

  2. งานที่ใช้ความเข้าใจในตัวบุคคล เช่น นักเขียน นักแนะแนวอาชีพ นักอาชญวิทยา ผู้ให้คำแนะนำปรึกษาส่วนบุคคล โค้ช


แนวทางในการพัฒนาอัจฉริยภาพด้านการเข้าใจตนเอง :

  1. ฝึกฝนลักษณะนิสัยที่สำคัญ 2 ข้อจากหนังสือ 7 Habits of Highly Efficiency People (จริงๆ แล้วฝึกให้ครบทั้ง 7 ข้อเลยจะดีที่สุด)

    1. นิสัยแรกคือ Be Proactive การที่เราจะพัฒนาตัวเราเองได้เราต้องตระหนักและเชื่อก่อนว่า เราคือผู้รับผิดชอบต่อความคิด การกระทำ การตัดสินใจ และการเติบโตของตัวเราเอง การพัฒนาตัวเองไม่ต้องรอให้คนอื่นหรือสถานการณ์มาช่วยกระตุ้นเรา เราคือผู้ที่มีอำนาจเต็มแต่เพียงผู้เดียวในการตัดสินใจว่าเราจะพัฒนาตัวเอง

    2. นิสัยที่สองคือ Begin with the end in mind หรือเริ่มต้นด้วยการมองให้เห็นภาพสุดท้ายในใจก่อน เราต้องรู้ก่อนว่าเราจะพัฒนาตัวเองไปอย่างไร ความสำเร็จที่แท้จริงของเราอยู่ที่จุดไหน ใช้เวลาถามตัวเองจนได้คำตอบที่ชัดเจนว่า เป้าหมายปลายทางที่เราต้องการจริงๆ ในชีวิตคืออะไร

  2. ทดลองทำ A-I-C Canvas เพื่อตอบตัวเองว่า อะไรคือ Destiny หรือเหตุผลที่เราเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://www.workingtribes.com/post/aiccanvas ครับ หรือจะลองศึกษาเรื่องอิคิไก (Ikigai) ดูด้วยก็ได้เช่นกัน

  3. ฝึกตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาตัวเองให้ได้มากขึ้นในแต่ละวัน ไม่ต้องปรับเปลี่ยนให้ได้แบบทันตาเห็น แค่ขอให้ "ดีขึ้นวันละ 1%" ก็เพียงพอ

  4. ฝึกทำ Daily Reflection สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก อธิบายแบบง่ายๆ มันก็จะคล้ายๆ การจดบันทึกประจำวันหรือเขียนไดอารี่ ที่ต่างกันก็คือ ไม่ใช่แค่จดบันทึกไว้ว่าเราไปทำอะไรที่ไหนกับใครมา แต่ให้เพิ่มเติมด้วยว่า สิ่งที่เราได้พบเจอในวันนี้ส่งผลต่อความคิดความรู้สึกของเราอย่างไร แล้ววันนี้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มเติมบ้าง

  5. ฝึกทำ To-do list เพื่อให้รู้ว่าในแต่ละวันเรามีอะไรที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จบ้าง แล้วเมื่อหมดวันลง เราทำเสร็จไปกี่อย่าง ไม่ได้ทำกี่อย่าง แล้วก็ฝึกทำ Daily Log ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้รู้ว่า เราใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการทำอะไรบ้าง แล้วในแต่ละช่วงเวลาของวันเราทำอะไรอยู่ เราสามารถใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง

  6. ลองทำแบบทดสอบเชิงบุคลิกภาพหลายๆ ตัวเพื่อให้แบบทดสอบนั้นช่วยสะท้อนความเป็นตัวเราในบางมุมที่เราอาจไม่ทันได้คิดถึงหรือไม่รู้ตัวออกมา ยกตัวอย่างเช่น แบบทดสอบอัจฉริยภาพในตัวคุณที่เราพึ่งทำกันไป หรือแนะนำอีกแบบทดสอบหนึ่งที่เป็นของบริษัทเราเองก็คือ Working Tribes แบบทดสอบที่จะช่วยพาให้คุณรู้จักตัวเองในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น


 

อัจฉริยภาพด้านมนุษยสัมพันธ์และการเข้าใจผู้อื่น


ลักษณะเด่น :

มักจะมีความสามารถในการเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล อ่อนไหวต่ออารมณ์ความรู้สึกและบรรยากาศของผู้คนรอบตัว มักจะมีความสามารถในการสื่อสารได้ดีผ่านทั้งคำพูดและภาษากาย จึงสามารถโน้มน้าวจิตใจคนรอบข้างให้เชื่อใจ ให้เห็นชอบทำตามได้ด้วยความเต็มใจ มักจะได้รับพลังงานจากคนรอบข้าง จึงรู้สึกสดชื่นสดใสเวลาได้พบเจอผู้คน มักจะมีความเป็นนักฟังสูง


อาชีพที่สอดคล้อง :

  1. งานบริการที่เน้นการสร้างความประทับใจ เช่น พนักงานต้อนรับ แอร์โฮสเตส พี่เลี้ยงเด็ก

  2. งานที่เน้นการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวใจให้บุคคลหรือกลุ่มคนทำอะไรบางอย่าง เช่น ผู้บริหาร นักขาย ที่ปรึกษา โค้ช นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ

  3. งานที่เน้นการสื่อสารและทำงานกับสังคมหรือมวลชน เช่น นักการฑูต นักการเมือง นักบวช นักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม อาสาสมัคร ยูทูปเปอร์ influencer


แนวทางในการพัฒนาอัจฉริยภาพด้านมนุษยสัมพันธ์และการเข้าใจผู้อื่น :

  1. ฝึกยิ้ม สำหรับบางคนการให้รอยยิ้มอย่างจริงใจกับคนอื่นอาจทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก หรืออาจคิดว่าบางคนทำได้เพราะมีหน้าตาเป็นมิตรกว่าเรา แต่ในความเป็นจริงการยิ้มให้สวยเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนการยิ้มอย่างจริงใจเริ่มต้นจากการที่เรามีความต้องการที่จะยิ้มให้เขาจริงๆ คิดซะว่า การที่เรายิ้มให้เขา ไม่ใช่เพราะเขาน่ารักพอเราจึงยิ้มให้ แต่เรายิ้มให้เขาเพราะเราน่ารักพอต่างหาก

  2. ฝึกฟังด้วยหัวใจ (Active Listening) การฟังที่ดีไม่ใช่แค่การรับฟังข้อมูลข่าวสารที่เขาส่งมาผ่านคำพูดของเขาเท่านั้น แต่ยังต้องรับรู้ถึงความรู้สึก อารมณ์ ปฏิกิริยาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่เขาพูดด้วย เมื่อเราใส่ใจในการฟัง รับรู้ทั้งข้อมูลและอารมณ์ความรู้สึกของผู้พูดได้ และตอบสนองกลับไปอย่างเหมาะสม นั่นจะทำให้ผู้พูด รู้สึกว่าเรารับฟังเขาและเข้าใจเขา ซึ่งจะช่วยให้เขาอยากพูดมากยิ่งขึ้น และในทางกลับกัน เขาก็จะพร้อมรับฟังความคิดเห็นหรือคำแนะนำจากเรามากยิ่งขึ้นด้วย เพราะเขารู้สึกว่าเราเข้าใจเขาแล้ว

  3. ฝึกสร้างสมดุลในบทสนทนา บางคนก็ชอบพูดแต่เรื่องของตัวเอง ถ้าเป็นแบบนั้นนานๆ คนฟังก็อาจจะรำคาญและเบื่อหน่ายได้ บางคนจริงๆ แล้วไม่ชอบคุยกับคนอื่น พอพยายามคุยด้วยก็อาจจะเอาแต่ถามเรื่องของคู่สนทนาฝ่ายเดียว แต่ไม่ยอมเปิดเผยเรื่องของตัวเองบ้างเลย แบบนี้คู่สนทนาก็อาจจะรู้สึกว่าเราพยายามไปละลาบละล้วงเรื่องของเขา หรือเราไม่จริงใจที่จะพัฒนาความสัมพันธ์

  4. แทบจะไม่มีใครพูดตรงกับใจแบบ 100% จริงๆ ถ้าเราอยากเข้าใจผู้อื่นมากยิ่งขึ้น ก็ต้องฝึกฝนการสังเกตภาษากาย (Body Language) ของผู้อื่นร่วมด้วย เรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจความหมายของสีหน้า ท่าทาง อากัปกิริยาของคู่สนทนา หรือคนในห้องประชุม เพื่อให้เข้าใจถึงสิ่งที่อยู่ในใจในความคิดของพวกเขาจริงๆ

  5. ฝึกใช้ภาษากายให้ถูกต้องด้วย จากงานวิจัยพบว่า คำที่พูดออกไป (Words) มีความสำคัญเพียงแค่ 7% เท่านั้น ในขณะที่น้ำเสียงที่ใช้ (Tone of Voice) มีความสำคัญถึง 38% และภาษากาย (Body Language) มีความสำคัญมากที่สุดถึง 55% เลยทีเดียว นั่นหมายความว่า ถ้าคำที่พูดออกไปกับภาษากายไม่สอดคล้องกัน คนฟังจะเชื่อในภาษากายมากกว่า บางคนมีความคิดที่ดี มีเจตนาที่ดีต่อคู่สนทนา แต่ด้วยการใช้ภาษากายที่ผิดพลาด ก็อาจทำให้คู่สนทนาเข้าใจผิดไปได้ เช่น เรากำลังตั้งใจฟังเพื่อนของเราเล่าปัญหาชีวิตของเขาอยู่ แต่เราดันนั่งกอดอกแน่นแถมเขย่าขาตลอดเวลา ซึ่งโดยภาษากายมันแปลได้ว่า เรากำลังอึดอัดกับบทสนทนานั้นอยู่และอยากจะยุติมันโดยเร็ว พอเพื่อนเราเห็นท่าทางเราแบบนั้นเขาก็อาจเสียใจที่เราไม่ตั้งใจหรือไม่อยากฟังเขาทั้งที่เขาเลือกจะมาปรึกษาเราแค่คนเดียวแท้ๆ (ความจริงคือ เราอาจจะกำลังหนาวเพราะแอร์มันตกลงที่ตัวเราพอดี แล้วใต้โต๊ะก็มียุงที่คอยมากัดขาเราด้วย)

  6. ฝึกการคิดแบบ Win-Win ไม่เคยมีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนแท้จริง ที่เกิดขึ้นจากการพยายามเอาเปรียบหรือเอาชนะคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเป็นคนไม่ชอบแพ้ แล้วทำไมเพื่อนของเราจะต้องชอบแพ้ด้วยล่ะ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะผลัดกันยอมบ้าง ก็ช่วยบรรเทาความอึดอัดในความสัมพันธ์ลงได้ แต่ให้ดีที่สุดเลยก็คือ พยายามร่วมกันคิดว่า ทำอย่างไรทั้งสองฝ่ายถึงจะชนะทั้งคู่ มันก็แค่ต้องคิดต้องคุยกันเยอะขึ้นเท่านั้นเอง


 

อัจฉริยภาพด้านการเข้าใจธรรมชาติ


ลักษณะเด่น :

มักจะมีความสามารถในการสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ ชอบที่จะอยู่ในธรรมชาติ เข้ากับสัตว์ได้เป็นอย่างดี สามารถแยกแยะความแตกต่างของพรรณไม้ รู้จักคุณสมบัติของพืชแต่ละชนิด สามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก ฤดูกาล และภูมิอากาศได้ มักจะมีความสุขที่ได้เรียนรู้จักสรรพสิ่งและธรรมชาติรอบตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใบหญ้า ก้อนหิน ดิน ทราย สายน้ำ ป่าเขา ก้อนเมฆ ไปจนถึงการโคจรของดวงดาวในระบบสุริยจักรวาล


อาชีพที่สอดคล้อง :

  1. งานที่เน้นการศึกษาลงลึกเกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น นักดาราศาสตร์ นักพฤกษศาสตร์ นักธรณีวิทยา นักชีววิทยาทางทะเล นักนิเวศวิทยา นักอุตุนิยมวิทยา

  2. งานที่ต้องอาศัยความเข้าใจในธรรมชาติเป็นองค์ประกอบสำคัญ เช่น นักอนุรักษ์ เกษตรกร คนตัดแต่งสวน คนฝึกสัตว์ คนดูแลสวนสัตว์ สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ช่างภาพสายธรรมชาติ เชฟ


แนวทางในการพัฒนาอัจฉริยภาพด้านการเข้าใจธรรมชาติ :

  1. สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การฝึกอยู่นอกห้องปรับอากาศ หรือห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ที่เราอยู่ตลอดทั้งวัน ในแต่ละวันลองหาช่วงเวลาว่างๆ ออกไปเดินเล่นในสวนสาธารณะแถวบ้าน สังเกตความเป็นไปของสิ่งต่างๆ รอบตัว ต้นไม้เป็นอย่างไร ออกดอกบ้างหรือยัง ก้อนเมฆวันนี้เป็นรูปอะไร สีอะไร หรือจะหาต้นไม้เล็กๆ มาปลูกเอาไว้ริมระเบียงบ้านบ้างก็ได้ แล้วก็ใช้เวลาช่วงหนึ่งในการออกไปดูแลต้นไม้ คอยรดน้ำเปลี่ยนดินเปลี่ยนกระถาง ส่วนหนึ่งที่จะได้จากการทำแบบนี้คือ เราจะเพิ่มทักษะการสังเกตให้กับตัวเอง และเมื่อเราหมั่นสังเกตอยู่เป็นประจำสักระยะหนึ่งเราจะเริ่มมองเห็น ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เมื่อก่อนเราไม่เคยรับรู้มันมาก่อนเลย

  2. ลองกลับไปทำกิจกรรมงานศิลปะจากวัสดุธรรมชาติเหมือนที่เราเคยทำสมัยเด็กๆ ดู ตัดก้านกล้วยมาจุ่มลงในจานสีแล้วเอาไปปั๊มลงบนกระดาษอาร์ตแผ่นใหญ่ หยิบใบไม้หลากหลายแบบที่เราหาได้มาบรรจงทาสีที่แตกต่างกันลงไป แล้วเอามาปั๊มลงบนกระดาษนั้นต่อ หรือจะหยิบผลไม้หลากหลายชนิดมาบรรจงแกะสลักเป็นรูปสัตว์น่ารักๆ หรือจะเป็นกิจกรรมทำหัตถกรรมถักสานก็ไม่เลว กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เราได้สังเกตเห็นคุณสมบัติที่แตกต่างของวัสดุทางธรรมชาติแต่ละชนิด

  3. หัดทำอาหารโดยไม่ต้องพึ่งพาสูตรจากอินเตอร์เน็ต ลองนึกทบทวนรสชาติของอาหารที่เราเคยทานมา แล้วคาดเดาว่าต้องมีวัตถุดิบอะไรบ้าง วัตถุดิบแต่ละอย่างมีรสชาติอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร มีผิวสัมผัสอย่างไร ทดลองทำหลายๆ แบบแล้วลองชิมดูเพื่อให้รู้ถึงความแตกต่างของวัตถุดิบแต่ละชนิด อย่าลืมว่า ความอร่อยเป็นเรื่องรอง (แต่ถ้าอร่อยด้วยก็ยิ่งดีเนอะ จะได้เอาไปทานต่อได้จริงๆ)

  4. ลองหาเวลาว่างไปกางเต๊นท์ริมแม่น้ำ เดินป่าล่องไพรไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ครั้งแรกๆ ลองติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานให้นำทางเราไปเพื่อให้เขาช่วยอธิบายความแตกต่างของพรรณไม้ต่างๆ และวิถีชีวิตของสรรพสัตว์ที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศนั้นๆ แล้วเราจะประหลาดใจว่า มีเรื่องราวอีกมากมายบนโลกใบนี้ที่อยู่ใกล้ตัวเรามากแต่เราไม่เคยได้สังเกตเห็น ถ้ามีโอกาสช่วงกลางคืนก็อย่าลืมออกมาส่องดูดวงดาวบนท้องฟ้า เดี๋ยวนี้มีแอปพลิเคชันแผนที่ดวงดาวอยู่มากมายที่จะคอยช่วยบอกเราว่า กลุ่มดาวไหนอยู่ตรงไหน หรือว่ากำลังจะมีปรากฎการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์เกิดขึ้นช่วงนั้นหรือไม่

  5. หาโอกาสไปสัมผัสกับสัตว์ประเภทต่างๆ อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นขี่อูฐ ลูบหัวโลมา ป้อนอาหารแกะ ให้เหยี่ยวเกาะไหล่ หรือนอนกอดเสือก็น่าสนุกดีใช่มั้ยล่ะ แม้บางสถานที่อาจจะมีราคาค่าเข้าไปเล่นกับสัตว์เหล่านั้นแพงหน่อย แต่ก็นับว่าเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่ามากเลยทีเดียว



** หมายเหตุ อาชีพที่สอดคล้องเป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น โดยทั่วไปการที่จะประสบความสำเร็จในแต่ละสายอาชีพ มักจะต้องใช้อัจฉริยภาพหลายด้านประกอบกัน และยังต้องมีการพัฒนาทักษะและสะสมประสบการณ์ในการทำงานนั้นๆ ด้วย

ดู 1,451 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page