top of page
รูปภาพนักเขียนฐิติกร พูลภัทรชีวิน

ชีวิตเราทำอะไรมากไปมั้ย ได้เวลากลับมาทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปบ้างแล้ว

ความจริงที่ทุกคนต้องยอมรับ และไม่มีใครเอาชนะได้ คือ ทุกคนมีเวลาเท่ากัน คือ สัปดาห์ละ 7 วัน วันละ 24 ชม. ไม่มีใครมีเวลามากไปกว่านี้


#ไม่มีเวลา จึงเป็นคำที่ #ไม่ใช่ความจริง ปัญหาคือ เรา #บริหารเวลา ได้ไม่ดีต่างหาก


เวลามีอยู่เท่ากัน บางคนชีวิตดีมีความสุข เพราะเขารู้ว่าเขาจะใช้เวลาทำเฉพาะสิ่งที่มีคุณค่ากับชีวิตของเขาเท่านั้น


ในขณะที่บางคนต้องวุ่นวายกับชีวิตมากมาย จนแทบไม่มีเวลาหายใจ แต่ก็แปลกที่ยิ่งทำตัวยุ่งเท่าไหร่ สิ่งที่ต้องทำกลับดูเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น


วันนี้โค้ชจะลองชวนทุกคนกลับมานั่งทบทวนชีวิตกันดูครับ วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้เราจัดสรรเวลาในชีวิตได้ดีขึ้น #เลิกทำสิ่งที่ไม่ควรต้องทำ กันซักที แล้วคุณจะพบว่าคุณมีเวลาชีวิตมากยิ่งขึ้นเอง




สำหรับเครื่องมือที่เราจะใช้กันวันนี้ เรียกว่า Task Trash Canvas วิธีการใช้งานก็ง่ายๆ ครับ ให้คุณพิมพ์แคนวาสตัวนี้ออกมา แล้วก็เตรียมกระดาษโพสต์อิต กับปากกาเอาไว้ แล้วมาเริ่มทำไปด้วยกันได้เลย


ขั้นตอนแรก สำรวจว่าทุกวันนี้เราทำอะไรอยู่บ้าง ซึ่งแน่นอนว่ารวมหมดทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เรียกว่าสิ่งที่ต้องเป็นประจำ เช่น ทำทุกวัน ทำทุกสัปดาห์ หรือทำทุกเดือน ให้เราพยายามลิสต์ออกมา แล้วเขียนใส่กระดาษโพสต์อิตไว้ แผ่นละ 1 งาน


ในโพสต์อิต 1 แผ่น ให้เขียนแบบนี้นะครับ (1) สิ่งที่ทำ หรือชื่องานนั้น (2) ความถี่ที่ทำ ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน (3) เวลาที่ใช้ในการทำสิ่งนั้น กี่นาที กี่ชั่วโมง


เขียนแล้วก็แปะลงไปตรงพื้นที่ด้านซ้ายสุดได้เลยครับ เน้นว่าโพสต์อิต 1 แผ่น ให้เขียนแค่ 1 งานนะครับ เพราะว่าเดี๋ยวเราจะย้ายมันไปยังช่องอื่นๆ ครับ


ขั้นตอนที่สอง จัดหมวดหมู่ให้กับสิ่งที่ทำ ให้คุณเลือกโพสต์อิตมา 1 ใบ ลองพิจารณางานนั้นดูว่า เป็นงานประเภทไหน ใน 4 ประเภท (1) สิ่งที่คุณรักที่จะทำ มีความสุขที่ได้ทำ (2) สิ่งที่คุณอยากจะทำ (3) สิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำ (4) สิ่งที่คุณไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ แต่ก็ยังทำ


สำหรับบางคนที่อาจจะยังรู้สึกว่าจัดหมวดหมู่ตามนี้ไม่ได้ ผมขอแนะนำวิธีการง่ายๆ แบบนี้ครับ เริ่มจากการถามตัวเองก่อนว่า เวลาที่ทำงานนั้น คุณรู้สึกเชิงบวกหรือเชิงลบกับมัน ถ้าความรู้สึกเป็นเชิงบวก (เช่น มีความสุข สนุก ตื่นเต้น ท้าทาย) แสดงว่างานนั้นอยู่ใน (1) หรือ (2) แต่ถ้าความรู้สึกเป็นเชิงลบ (เช่น เบื่อหน่าย หดหู่ ทำเพราะเป็นหน้าที่ที่เลี่ยงไม่ได้) แสดงว่างานนั้นอยู่ใน (3) หรือ (4) ครับ


สำหรับงานที่รู้สึกเชิงบวก แยก (1) กับ (2) แบบนี้ครับ งานประเภท (1) มักจะเป็นงานที่คุณทำเพื่อปัจจุบัน ส่วนงานประเภท (2) มักจะเป็นงานที่คุณทำเพื่ออนาคต เช่น ถ้าคุณหยิบโพสต์อิตที่เขียนว่า "ดูแลต้นไม้ในสวน" ขึ้นมา คุณเป็นคนชอบอยู่กับธรรมชาติ คุณเลยมีความสุขที่ได้ทำสิ่งนี้ และเป็นการทำเพื่อปัจจุบัน ก็ให้เอาโพสต์อิตแผ่นนี้ไปแปะไว้ที่ "สิ่งที่คุณรักที่จะทำ" ครับ คุณหยิบอีกแผ่นขึ้นมาแล้วมันเขียนว่า "เข้าฟิตเนส" คุณได้ตั้งเป้าให้กับตัวเองไว้ว่าปีนี้จะต้องมีหุ่นฟิตแอนด์เฟิร์มให้ได้ ถามว่าการเข้าฟิตเนสมันทำให้คุณมีความสุขมั้ย มันอาจไม่ได้ทำให้คุณมีความสุขตอนเข้าไปออกกำลังกาย แต่คุณรู้ว่าถ้าคุณทำมันสำเร็จ คุณจะมีความสุขจากผลที่เกิดขึ้นแน่นอน คุณจึงอยากทำมัน ก็ให้เอาโพสต์อิตแผ่นนี้ไปแปะไว้ที่ "สิ่งที่คุณอยากจะทำ" ครับ


สำหรับงานที่รู้สึกเชิงลบ แยก (3) กับ (4) ด้วยคำถามว่า จริงๆ แล้วงานนี้ คุณจำเป็นต้องทำจริงหรือไม่ ถ้าต้องทำจริง ถามต่อว่า จำเป็นที่จะต้องเป็นคุณเท่านั้นที่จะทำงานนี้หรือไม่ หรือคุณสามารถให้คนอื่นทำแทนได้ งานที่ต้องทำและต้องเป็นคุณเท่านั้น คือ งานประเภท (3) ส่วนงานที่ให้คนอื่นทำแทนได้ หรืออาจไม่จำเป็นต้องทำเลย คือ งานประเภท (4) ครับ


ให้คุณหยิบโพสต์อิตมาดูทีละแผ่น แล้วย้ายมันไปแปะไว้ในแต่ละช่องตรงกลาง จนกว่าจะครบทุกแผ่นครับ


ขั้นตอนที่สาม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ผมชอบที่สุด คือ ทิ้งงานที่ไม่จำเป็นต้องทำลงถังขยะไปซะ ในขั้นตอนนี้เราจะโฟกัสไปที่งานในช่อง (4) ซึ่งเป็นงานที่จริงๆ แล้วคุณไม่ต้องทำ แต่คุณก็ยังทำอยู่ (เช่น นั่งดูซีรี่ส์ใน Netflix) หรือเป็นงานที่คุณให้คนอื่นทำแทนคุณได้ ในขั้นตอนนี้ให้คุณตั้งคำถามกับตัวเองว่า คุณต้องทำอย่างไรเพื่อให้คุณสามารถทิ้งงานเหล่านี้ออกไปจากชีวิตคุณได้ เช่น คุณอาจมองว่า "ทำความสะอาดบ้าน" เป็นงานประเภทที่คุณจำเป็นต้องทำ แต่ไม่อยากทำ และคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคุณที่ทำมันก็ได้ คุณก็อาจลองมาพิจารณาว่า มีวิธีการอะไรบ้างที่จะทำให้คุณไม่ต้องทำงานนี้ด้วยตัวเอง คำตอบอาจจะเป็น การจ้างแม่บ้าน การแบ่งงานบ้านให้ลูกๆ ทำ ฯลฯ หรืออะไรก็ได้ แต่เป้าหมายคือ เราต้องการให้คุณทิ้งงานนี้ออกไปจากตัวเองให้ได้ เพื่อให้คุณได้เวลาคืนมาบางส่วน


ขั้นตอนที่สี่ ปรับรายละเอียดสิ่งที่จะทำ ในขั้นตอนนี้ให้เราโฟกัสไปที่งานในช่อง (1) และ (2) รวมถึงงานในช่อง (3) แล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจัดสรรเวลาให้กับสิ่งต่างๆ เหล่านี้เหมาะสมหรือยัง คุณสามารถเพิ่มหรือลดความถี่ได้หรือไม่ ในแต่ละครั้งที่ทำคุณสามารถเพิ่มหรือลดเวลาในการทำมันได้หรือไม่ อย่าลืมว่าคุณได้เวลาบางส่วนคืนมาจากการทิ้งงานที่ไม่จำเป็นออกไปแล้ว คุณจึงสามารถนำมันมาเพิ่มให้กับงานที่คุณรักที่จะทำและงานที่คุณอยากจะทำได้ (ไม่แนะนำให้เพิ่มให้กับงานที่จำเป็นต้องทำ) และถ้าจะให้ดี ในขั้นตอนนี้ให้จัดลำดับความสำคัญของงานไปเลย วิธีการก็คือ หยิบโพสต์อิตมาสองใบ แล้วถามตัวเองว่า ระหว่างสองงานนี้ ถ้าคุณต้องเลือกทำหนึ่งงาน คุณจะทำงานไหนก่อน เมื่อตอบได้แล้ว หยิบโพสต์อิตอีกหนึ่งแผ่นขึ้นมา แล้วมาเปรียบเทียบกับสองแผ่นแรก ด้วยคำถามแบบเดิมเลยครับ เมื่อคุณถามตัวเองไปเรื่อยๆ แบบนี้ คุณจะได้ลำดับของงานที่สำคัญในสายตาของคุณออกมา ซึ่งคุณสามารถใช้เป็นเกณฑ์คร่าวๆ ในการเลือกทำอะไรก่อนหลังได้ครับ


ขั้นตอนที่ห้า เริ่มต้นปรับแผนชีวิตให้สอดคล้องกับที่อยู่ในแคนวาสทันที นี่คือขั้นตอนที่สำคัญที่สุด การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างต้องการการเริ่มต้นทำทันที มันไม่สำคัญว่าคุณจะทำแคนวาสนี้ออกมาได้ดีแค่ไหน แต่มันสำคัญที่คุณต้องเริ่มต้นลงมือทำให้มันเกิดขึ้นจริงต่างหาก


ขยะในชีวิตท่าน ทิ้งลงถังเถอะครับ

ดู 378 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarii

Evaluat(ă) cu 0 din 5 stele.
Încă nu există evaluări

Adaugă o evaluare
bottom of page